วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

มหาสติปัฏฐาน 4

พระอาจารย์ทอง สิริมงฺคโล
พระอาจารย์ทอง สิริมงฺคโล ผู้ริเริ่มวิปัสสนากรรมฐาน แนวสติปัฐฐาน 4 แห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่

พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระราชพรหมจารย์ (พระอาจารย์ทอง สิริมงฺคโล) มีนาม เดิมว่า “ทองแก้ว พรหมะเสน” เกิดเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2466 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 12 ค่ำ เดือนสิบใต้ (เดือนสิบสองเหนือ) ที่บ้านนาแก่ง ตำบลบ้านแอ่น อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ท่านเจ้าคุณอาจารย์สืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนาง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 6 พ่อของท่านเจ้าคุณอาจารย์ชื่อ พ่อทา แม่ชื่อ แม่แต้ม พรหมะเสน มีพี่น้องท้องเดียวกัน 6 คน พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระราชพรหมาจารย์(พระอาจารย์ทอง สิริมงฺคโล) เป็นบุตรคนที่ 5
ในวัยเด็ก ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัวอย่างอบอุ่น มีความใกล้ชิดกับแม่มาก ขยันทำงานทุกอย่างไม่เคยรังเกียจแม้แต่การเหลาไม้ชำระให้แม่ จนได้รับคำชมเชยจากแม่อยู่เสมอทำให้รู้สึกปลื้มใจมาก เป็นผู้ที่มีใจฝักใฝ่ อยู่กับการบวช เป็นพระมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เมื่ออายุประมาณ 6-7 ขวบ ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้ฝันเห็นพระพุทธรูปยิ้มให้ แล้วตัวเองนอนอยู่รู้สึกว่าลอยขึ้นลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ จากนั้นก็มีใจผูกพันอยู่กับพระมาโดยตลอด แม้แต่การเล่นก็ชอบเล่นเป็นพระ โดยนำเอาผ้านุ่งของแม่มานุ่งห่มในลักษณะของพระอยู่เสมอ ผิดกับการเล่นของเด็กคนอื่นๆ ซึ่งเป็นสัญญาณแสดง ให้เห็นว่าท่านเจ้าคุณอาจารย์จะต้องอยู่ในสมณเพศ อย่างแน่นอน

หลังจากสอบได้นักธรรมโท เมื่อปี พ.ศ.2486 จากสำนักเรียนวัดชัยพระเกียรติ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ท่านเจ้าคุณอาจารย์ก็ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดบ้านแอ่น อำเภอฮอด เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2487 โดยมีพระครูคัมภีรธรรมพรหมปัญโญ เจ้าอาวาสวัดชัยพระเกียรติ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการญาณรัฐ วัดห้วยทราย เป็นพระกรรม- วาจา, พระมหาจันทร์ วัดพระสิงห์วรวิหาร เป็นพระอนุศาสนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สิริมงฺคโล” และในปีเดียวกันท่านเจ้าคุณอาจารย์ก็สอบได้นักธรรมเอก จากสำนักเรียนวัดพันอ้น อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
หลังจากบวชเป็นพระภิกษุแล้วท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดชัยพระเกียรติอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งในระหว่างนั้นท่านเจ้าคุณอาจารย์ ก็ได้รับความไว้วางใจจากพระครูคัมภีรธรรม เจ้าอาวาสวัดชัยพระเกียรติ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นพระปลัดฐานานุกรมเมื่อปี พ.ศ.2490 ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้รับมอบหมายให้ช่วยงานสำคัญๆ ในพระพุทธศาสนามาโดย ตลอด จนกระทั่งต่อมาคณะศรัทธาจากวัดเมืองมางได้ มาอาราธนานิมนต์ท่านเจ้าคุณอาจารย์ ให้มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดเมืองมาง เนื่องจากเจ้าอาวาสเมืองมางได้ถึงแก่มรณภาพไปเมื่อปี พ.ศ.2491 ท่านเจ้าคุณอาจารย์จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเมืองมาง ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ขณะเดียวกันก็ดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอฮอดด้วย
ด้วยปฏิปทาอันเคร่งครัดและความตั้งใจศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ทั้งทางด้านปริยัติและการปฏิบัติเพื่อดำเนินตามรอยพระบาท ของพระพุทธองค์ผู้ทรงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นี้ ทำให้ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้รับการคัดเลือกจากท่านเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตร(พระครูอัตตชีโว)วัดพระสิงห์วรวิหาร ให้เป็นผู้แทนของพระสงฆ์ในภาคเหนือ ไปศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน 4 ที่วัดมหาธาตุวราชรังสฤษฏิ์ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2495 เป็นเวลา 1 ปี ในสมัยนั้นการคมนาคมระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ก็ยังไม่มีความสะดวกเหมือนในปัจจุบัน การที่จะเดินทางไปกรุงเทพฯ แต่ละครั้งนั้นนับเป็นเรื่องใหญ่เป็นการเดินทางไกล เหมือนกับการเดินทางไปต่างประเทศทีเดียว การที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์เป็นพระรูปเดียวที่ได้รับการคัดเลือกในภาคเหนือ จึงถือว่าเป็นเกียรติประวัติอันน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และในการไปศึกษาที่วัดมหาธาตุฯ ที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์จัดขึ้นมิได้ขาดตราบจนกระทั่ง ท่านพระครูประกาศฯ ได้มรณภาพไป หลังจากจบการศึกษาที่วัดมหาธาตุฯ แล้ว เมื่อปี พ.ศ.2496 ท่านเจ้าคุณอาจารย์ก็ได้รับการส่งเสริมให้ไปศึกษาปริยัติในแนวปฏิบัติ และค้นคว้าหาหลักฐานการเดินจงกรม 6 ระยะ ที่ประเทศพม่าเป็นเวลา 7 วัน และที่ประเทศอินเดียเป็นเวลา 10 วัน แล้วกลับมาที่ประเทศพม่าอีกครั้งหนึ่ง เพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการเดินจงกรมและการปฏิบัติ-วิปัสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน 4 โดยศึกษา ค้นคว้าจากพระไตรปิฎกเป็นเวลา 2 ปี ครั้งนี้ได้พักอยู่ที่วัดกำมะเอระยะหนึ่ง แล้วย้ายไปพักที่วัดพญาจี่จองได้(เช้าทัดจี่) ก่อนกลับเมืองไทยท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้มีโอกาสศึกษาการปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐานที่ศาสยิกากับท่านมหาสีสะยาดอภัททันตะโสภณมหาเถร เป็นเวลา 1 เดือน จึงเดินทางกลับเมืองไทย
ด้วยปณิธานอันแรงกล้าที่จะเผยแพร่พระพุทธศาสนาด้านวิปัสสนาธุระให้เข้าไปอยู่ในดวงใจของมวลมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อท่านเจ้าคุณเดินทางกลับมาที่วัดเมืองมางได้ริเริ่ม จัดตั้งสำนักอบรมการฝึกปฏิบัติวิปัสสนา กรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน 4 ขึ้นเป็นแห่ง แรกในจังหวัดเชียงใหม่ ณ วัดเมืองมาง เมื่อปี พ.ศ.2497 ท่านเจ้าคุณได้จัดสร้างกุฏิกรรมฐานขึ้นในบริเวณ วัด และใช้ความรู้ที่ศึกษามาเปิดการอบรมแนะนำขั้นตอนของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ถูกต้อง เพื่อเป็นพื้นฐานให้แก่ผู้ที่เข้ามาศึกษาและปฏิบัติอย่างได้ผล นอกจากนี้ท่านเจ้าคุณอาจารย์ยังเป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างหอสมุด และจัดตั้งห้องสมุดวัดเมืองมางขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2500 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจทั้ง ทางด้านปริยัติและการปฏิบัติได้ศึกษาหาความรู้อย่างกว้างขวาง และในปี พ.ศ.2507 ท่านเจ้าคุณอาจารย์ก็ได้ริเริ่มจัดตั้งสำนักสอนพระอภิธรรมขึ้นเป็นแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ ณ วัดเมือง-มาง โดยอาราธนานิมนต์พระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านพระอภิธรรมมาจากวัดระฆังโฆษิตาราม ธนบุรี และจากวัดมหาธาตุฯ พระนครมาเป็นผู้อำนวยการสอนทางด้านปริยัติ ส่วนท่านเจ้าคุณอาจารย์ก็ทุ่มเทให้กับการสอนทางด้านการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างเต็มที่
ปี พ.ศ.2534 เป็นต้นมา ท่านเจ้าคุณได้รับบัญชาจากสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ท่านเจ้าคุณก็ได้กระทำการฟื้นฟูและส่งเสริมการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารนี้ เช่นเดียวกัน โดย ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งเป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานขึ้นมีการก่อสร้างกุฏิ สำหรับฝึกวิปัสสนากรรมฐาน มีสำนักงานวิปัสสนาธุระวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เพื่อเป็นสถานที่ทำการประสานงานกิจการของการฝึกวิปัสสนากรรมฐาน และมีศาลาสำหรับสอบอารมณ์ผู้เข้ารับการปฏิบัติ ซึ่งจัดสร้างไว้อย่างเป็นสัดส่วนโดยเฉพาะ
นอกจากท่านเจ้าคุณอาจารย์จะส่งเสริมการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในแนวสติ ปัฏฐาน 4 นี้ ให้กับพุทธศาสนิกชนชาวไทยแล้ว ท่านเจ้าคุณอาจารย์ยังได้เผื่อแผ่แนวการปฏิบัตินี้ ไปยังพุทธศาสนิกชนในต่างประเทศด้วยจุดมุ่งหมายก็เพื่อจะพัฒนาจิตของมวลมนุษย์ให้เข้าถึงคุณธรรมขององค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ทุกคนได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข นำสันติภาพอันถาวรมาสู่สังคมโลก
ศรัทธาของชาวต่างประเทศเกิดขึ้นหลังจากที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์ ได้ขยายสำนักปฏิบัติมาที่วัดร่ำเปิง(ตโปทาราม) แล้วก็ได้มีชาวต่างประเทศที่เลื่อมใสศรัทธามาปฏิบัติธรรมกันเป็นจำนวนมาก ด้วยเห็นคุณประโยชน์อันมีค่ามหาศาลของการปฏิบัติ จึงพากันมาจากประเทศต่างๆ ทั่วทั้งแถบเอเชีย และมีจำนวนหลายคน ที่เกิดความเลื่อมใสศรัทธาและเห็นคุณค่า ของการปฏิบัติ เมื่อเดินทางกลับประเทศของตนแล้วก็ได้ดำเนินการจัดตั้งสำนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและได้อาราธนานิมนต์ ท่านเจ้าคุณอาจารย์ให้เดินทาง ไปอบรมและสอนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานยังประเทศนั้นๆ
การเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในต่างประเทศของท่านเจ้าคุณอาจารย์นั้นบางครั้งก็เต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพของดินฟ้าอากาศ อาหาร ความเป็นอยู่เวลาที่แตกต่างกัน ท่านเจ้าคุณอาจารย์ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างยิ่งในการเดินทางไปต่างประเทศแต่ละครั้ง เพื่อประโยชน์อันมหาศาลที่ชาวโลกจะได้รู้ว่า ธรรมะภาคปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน 4 นี้จะช่วยให้มวลมนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข โลกสงบร่มเย็นได้ด้วยธรรมะของพระพุทธองค์ และจากการที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์มีความเพียร พยายามเดินทางไป เผยแผ่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในประเทศต่างๆ นี้ ทำให้มีชาวต่างประเทศ ผู้เลื่อมใสศรัทธาเดินทางมาศึกษา และปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในประเทศไทย เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี เป็นไปตามพุทธประสงค์ของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสว่า “จรถ ภิกขเว...” ซึ่งแปลว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวไปเพื่อประกาศพระสัทธรรม ของเราแก่ชนทั้งโลก เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้น จึงกล่าวได้ว่า ท่านเจ้าคุณอาจารย์เป็นนักพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมด้วยการเผยแผ่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมความดีเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชน และศิษยานุศิษย์อย่างกว้างขวางเป็นผู้มีความรู้ความสามารถมีความมุ่งมั่น และปณิธานอันแรงกล้าในการปฏิบัติศาสนากิจให้บรรลุจุดมุ่งหมาย ด้วยความวิริยะอุตสาหะและความอดทน เป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่สังคมนานัปการจนเป็นที่รู้จักและยอมรับกันอย่างกว้างขวางทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผลงานทั้งหลายของท่านเจ้าคุณอาจารย์ทรงคุณค่าจนไม่อาจประเมินเปรียบเทียบกับสิ่งใดได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานทางด้านวิปัสสนาธุระ เป็นผลงานที่สมควรแก่การยกย่องเป็นอย่างยิ่ง ด้วยคุณธรรมความดีดังกล่าวของท่านเจ้าคุณอาจารย์จึง ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชในราชทินนามที่ “พระราช- พรหมาจารย์” ในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิม พระชนมพรรษาครบ 6 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นการ ส่งเสริมให้ชาวโลก ได้เห็นคุณธรรมของพระ-พุทธองค์ให้มากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การอยู่ร่วม กันอย่างสันติสุขของมวลมนุษย์ทั้งหลาย

เก็บมาฝากจากการปฏิบัติธรรม ณ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เชียงใหม่
เนื้อความ :

เรามีโอกาสลาพักร้อน 2 อาทิตย์ เมื่อวันแม่ที่ผ่านมา จึงตัดสินใจเลือกไปปฏิบัติธรรม ณ สถานที่นี้ตามคำแนะนำของญาติที่เคยบวชที่วัดนี้มาก่อน ว่ามีการสอนวิปัสสนากรรมฐานเป็นขั้นตอน มีหลักสูตร สามารถเห็นความก้าวหน้าทางจิตชัดเจน และหลวงพ่อที่นี่เป็น ผู้ที่ปฏิบัติดีและเป็นที่นับถือมากและเราก็ตัดสินใจ ไม่ผิดจริง ๆ ที่ ใช้เวลา ที่เรามีได้คุ้มค่ามาก เรานั่งรถไฟจากกรุงเทพ และรวมกับญาติที่ลำปาง ขับรถมาส่งเราที่วัดนี้ ญาติได้ทำการติดต่อกับทางวัดจองสถานที่พักล่วงหน้าแล้ว (ควรติดต่อมาก่อนเพราะที่พักอาจเต็มได้) ที่นี่มีกุฎิที่พักราว 200 กุฏิ
(รวมของพระ ชี และ โยคี แล้ว แต่ยังไม่รวมตึกแถวหรือศาลา) ที่พักที่นี่สัปปายะมาก เป็นบ้านชั้นเดียวห้องน้ำในตัว มุ้งลวด เหล็กดัด อุปกรณ์ที่จำเป็นพร้อม) เรียกว่าสถานที่พร้อม อาหารพร้อม มีทั้งมังสวิรัติหรือธรรมดา ก็เหลือแต่คนนี่แหละที่พร้อมจะตั้งใจปฏิบัติหรือเปล่า เรามากับคุณยาย และป้า เรียกว่าแก่แล้วทั้งคู่ ป้าเข้าวัดครั้งแรก แต่เราและคุณยายเคยปฏิบัติธรรมหลายแห่งแล้ว สำหรับเราครั้งนี้จะเป็นครั้งที่นานที่สุด เพราะที่ผ่านมาสูงสุดแค่ 7 วันเท่านั้น เราปฏิบัติธรรมไม่สม่ำเสมอหรอก แล้วแต่โอกาสจะอำนวย แต่ปีหนึ่งก็ไม่บ่อยครั้งนัก อยู่บ้านก็ไม่ได้ปฏิบัติหรอกเพราะกิเลสมันเยอะ ดังนั้นทุกครั้งที่ไปเกือบเหมือนเริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง ทีไปน้อยๆวัน พอจิตใจมี สมาธิ ขึ้น ก็ถึงเวลากลับบ้านแล้ว ทราบจากญาติว่าหลักสูตรหนึ่งประมาณ 21 วัน ดังนั้นเมื่อได้ขึ้นขันธ์ขอเรียนกรรมฐานจากหลวงพ่อ(พระอาจารย์ทอง สิริมงฺโล) (พระราชพรหมาจารย์) เราจึงเรียนท่านว่าเรามีเวลาเพียง 14 วันขอหลักสูตรเร่งรัดจากหลวงพ่อ เพราะเราอยากจบตามหลักสูตร แบบว่าอยากปฏิบัติให้เข้ม ๆ ถึงเข้ากรรมเลย) หลวงพ่อท่านว่าแล้วแต่วาสนานะ เราก็ตั้งใจปฏิบัติเต็มที่แหละ ที่นี่สอนแนวสติปัฏฐาน 4 ที่นี่สอน ให้ใช้คำบริกรรมว่า ยุบหนอ พองหนอ เราไม่ค่อยถนัดหรอก เพราะจิตมันคุ้นเคยกับอนาปานสติ พุทโธ หรือไม่กำหนดมากกว่า แต่เพื่อความก้าวหน้าทางจิต ก็ต้องฝึกเอา เราถือว่าทุกๆสาย ก็เป็นทางสายพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น จึงยินดีปฏิบัติตามคำแนะนำของทุกๆ สถานที่ที่เราไป
ที่นี่มีการเดินจงกรม 6 ระยะแบบเดียวกับสายคุณแม่สิริ กรินชัย หรือสายแม่ชีอมรีรัตน์ แต่ไม่เน้นรูปแบบความสูงต่ำของการยก ย่าง แต่ให้มีสติ กำหนด
1 ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ
2 ยกหนอ เหยียบหนอ
3 ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ
4 ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ
5 ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ
6 ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ กดหนอ
ท่านไม่ได้ให้เราเดินเปลี่ยนทุกวันนะ เพราะทุกวันหลวงพ่อจะเมตตา ให้โยคีเข้าพบ และสอบอารมณ์ได้ ตอนเช้า ประมาณ 6.30 น ตอนเย็น
ประมาณ 16.30 น. และท่านก็จะบอกว่าวันนี้ให้ปฏิบัติอย่างไรต่อ เช่นวันแรกท่านให้กราบสติปัฏฐาน 4 เดิน 1 และนั่งสมาธิ ยุบหนอ พองหนอ ถือเป็น 1 ชุด เรื่อยๆ อย่างละ 20 นาที วันหนึ่ง ไม่ควรต่ำกว่า 9 ชุด สำหรับผู้ที่ใหม่ท่านก็ให้พระ หรือแม่ชีสอนว่าท่าเดินเป็นอย่างไร วันต่อมา เช้าสอบอารมณ์ท่านก็ให้เล่าว่าการปฏิบัติเป็นอย่างไรบ้าง และให้เดินเปลี่ยนเป็นเดิน 2 ทำสลับนั่ง 25 นาที ตอนเย็นสอบอารมณ์อีกท่านถามว่าพอง ยุบหายมั้ย และท่านก็ให้กำหนดเพิ่ม พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ (เมื่อพอง ยุบหาย และให้พิจารณามองร่างกาย) ทำอย่างละ 30 นาที ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ เรามีครูบาอาจารย์ อบรมสั่งสอน ใกล้ชิดสามารถถามคำถามที่ข้องใจได้ คนส่วนใหญ่จะสอบอารมณ์เพียงวันละหน แต่เรามีเวลาน้อย เลยมาหา หลวงพ่อ ทั้งเช้า เย็น เลย เราถือหลักอยากก้าวหน้าไว ต้องกินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ปฏิบัติมาก เราพักกุฏิคนเดียว ป้ากับยายแยกอยู่อีกกุฏิ ป้าเกิดไม่สบายในวันรุ่งขึ้นเลย ลุกไม่ไหวบอกเวียนศีรษะ เป็นความดัน เราจึงบริการส่งอาหารให้ ป้าเกือบจะกลับก่อนกำหนด แต่เรากับคุณยายให้ป้าอดทน และอธิฐานขออนุญาติทำบุญ เพราะอาจเป็นกรรมที่จะขัดการทำบุญ ซึ่งท่านไม่ค่อยได้ทำมากนัก ซึ่งก็จริงเพราะอีกวันสองวันท่านก็หายสนิทสามารถปฏิบัติธรรมได้ต่อ ที่นี่ไม่ได้เคร่งครัดนัก หมายถึงผู้ปฏิบัติจะต้องขยันและปฏิบัติเอง จะไม่มีผู้มาจ้ำจี้จ้ำไช ว่าจะตื่นนอนเวลาใด ปฏิบัติเวลาใด เราสามารถปฏิบัติได้ทั้งในกุฏิตัวเอง ซึ่งยาวพอสำหรับการเดินจงกรม หรือจะไปปฏิบัติที่ธรรมศาลาก็ได้ ซึ่งนักปฏิบัติธรรมหลายคน นิยมมาที่นี่เพราะกว้างขวาง เย็นสบาย แรกๆ เรามักจะรู้สึกปวดเมื่อย อยากพลิก อยากเปลี่ยนท่า นึกถึงว่าเวลาจะหมดหรือยัง เมื่อหลวงพ่อเพิ่มเวลาก็พบว่า ความรู้สึกอยากเปลี่ยนท่านั้น ขยับเวลาออกไปเรื่อยๆ เช่นกัน มักจะอยากยอมแพ้เมื่อใกล้เวลาทุกทีไป เช่นถ้าหลวงพ่อให้นั่งถึง 35 นาที ถ้าเรายอมแพ้ ก็มักจะเป็น อีก 1 นาทีก่อนหมดเวลา ทุกทีไป ดังนั้นถ้าอดทน จนนาฬิกาหมดเวลา ก็จะชนะได้ทุกครั้ง วันต่อมาหลวงพ่อเพิ่มให้กำหนดจิตสติไปเพ่งพิจารณาถูกที่จุดต่างๆ ในร่างกาย วันแรกคือสะโพกขวา ซ้ายเหมือนเอาเหรียญบาทไปแตะถูกจุดนั้น โดยกำหนดคำบริกรรมว่า พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ (นึกจิตไปถูกสะโพกขวา) พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ (สะโพกซ้าย)
สรุปจุดต่างๆ ในร่างกายที่ต้องไปกำหนดถูกมี 28 จุด คือ
1-2 สะโพกขวา สะโพก ซ้าย
3-4 ก้นย้อยขวา ก้นย้อย ซ้าย
5-6 ขาพับด้านนอกขวา ขาพับด้านนอกซ้าย
7-8 ตาตุ่มด้านนอกขวา ตาตุ่มด้านนอกซ้าย
9-10 หลังเท้าขวา หลังเท้าซ้าย
11-12 หัวเข่าขวา หัวเข่าซ้าย
13-14 หน้าขา ขวา หน้าขาซ้าย
15-16โคนขาหนีบขวา โคนขาหนีบซ้าย
17-18-19 (ไขว้หน้า ) โคนขาหนีบขวา กลางอก ไหล่ซ้ายด้านหน้า
20-21-22 (ไขว้หน้า ) โคนขาหนีบซ้าย กลางอก ไหล่ขวาด้านหน้า
23-24-25 (ไขว้หลัง ) สะโพกขวา กลางหลัง ไหล่ซ้ายด้านหลัง
26-27-28 (ไขว้หลัง ) สะโพกซ้าย กลางหลัง ไหล่ขวาด้านหลัง
เมื่อสอบอารมณ์กับหลวงพ่อ ท่านจะทยอยเพิ่มจุดต่างๆ ในการให้จิตเราเอาไปถูก เพิ่มระดับการเดินจนกระทั่งถึงเดิน 6 เพิ่มเวลาการเดิน นั่ง จนกระทั่งถึง 1 ชั่วโมง เมื่ออารมณ์เกิดปีติ ฟุ้งซ่าน หรืออื่นอื่นท่านก็จะแนะให้เรากำหนด เห็นหนอ คิดหนอ ฟุ้งหนอ ยินหนอ เจ็บหนอ ปวดหนอ ว่างหนอ เฉยหนอ กำหนดรู้อิริยาบถย่อย และอื่นๆ การที่มีการกำหนดจุดไปตามร่างกายเช่นนี้ทำให้นึกถึงคำสอนของหลวงพ่อกรณตสิริภิกขุ วัดถ้ำชี จังหวัดเพชรบุรีที่ว่า “เที่ยวไปในกายนคร ดีกว่าทัศนาจร ภายนอก” เรารู้สึกขึ้นมาว่านี่ก็คืออีกหนึ่งวิธีในการเที่ยวไปนั่นเอง รู้สึกถึงพลังงานความร้อนของจิตที่ผ่านไปยังจุดต่างๆ การที่มีการกำหนดจุดต่างๆไปตามร่างกายทำให้เรารู้สึกว่าจิตมีงานทำ ทำให้เวลา 60 นาทีที่ใช้ในการนั่งสมาธิไม่นานเกินไป ทำให้ไม่เบื่อและสามารถนั่งได้ทนขึ้น เมื่อท่านเพิ่มจนครบจุด ท่านจะบอกให้นอนเพียง 4 ชม และวันต่อมา ท่านจะให้อธิฐาน ซึ่งคือเข้ากรรม ห้ามนอน ห้ามอาบน้ำ ให้ปฏิบัติตลอด3 วัน 3 คืน ไม่ให้ออกจากกุฏิ ให้เก็บอารมณ์มากๆ จะมีผู้บริการส่งอาหารเช้า กลางวันให้ วันแรกให้อธิฐานให้พบธรรมวิเศษ วันต่อมาให้ นับการเกิด ดับ (โงก ผงก) วันสุดท้ายให้เกิดการดับสว่าง...แต่ละวันหลวงพ่อจะให้ให้ใบอธิฐาน มีรายละเอียดของคำอธิฐาน สิ่งที่ต้องปฏิบัติ เราไม่ขอเล่าอารมณ์ ความรู้สึก นิมิค ปิติ ที่เกิดขึ้น แก่เรา ผู้อยากรู้แนะนำให้พบครูบาอาจารย์หรือปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อท่านจะได้พบกับสิ่งนั้นด้วยตัวเอง เราสามารถปฏิบัติทั้งหมดที่ว่า ภายในเวลา 14 วัน ในขณะที่คุณป้าและคุณยายไม่ยอมไปสอบอารมณ์เพราะกลัวว่าจะทำไม่ได้ นั่งไม่ได้นาน แต่ก็แอบถามเรา แอบทำตามในสิ่งที่ท่านคิดว่าท่านทำได้ ก็ยังดีนะ ทำบ้างยังดีกว่าไม่ทำ บางคนมาครั้งที่ 2 – 3 มาเพื่อทวนญาณ หลวงพ่อจะมีใบแนะนำว่าให้ทำอะไร สำหรับญาณชื่ออะไร ใช้เวลาประมาณ 10 วัน เรายังไม่มีโอกาสทวนญาณ เนื่องจากหมดเวลา แล้ว อีกเรื่องที่อยากเล่าให้ฟังคือ ที่นี่มีพระ ชีชาวต่างชาติหลายรูป ผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นชาวต่างประเทศก็มาก ทั้งหญิงชาย ทยอยกันมา ยังวัยรุ่นอยู่ก็มี ถามได้ความว่ารู้จาก อินเตอร์เนตบ้าง จากเพื่อนแนะนำต่อๆ กันมา มีหลายชาติที่เจอ เช่น อังกฤษ นอร์เวย์ เบลเยี่ยม เยอรมันนี ออสเตรเลีย แต่ละคนที่มา ตั้งใจจริงจัง และจะปฏิบัติให้ครบหลักสูตรทั้งสิ้น น่านับถือ และเราขออนุโมทนาด้วยจริงๆ ที่นี่มีการฟังเทศน์และเวียนเทียนรอบพระธาตุทุกวันพระ สามารถใส่บาตรได้ทุกวัน
การปฏิบัติครั้งนี้เราถือว่าจิตเราได้รับการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นสมดังตั้งใจ มีกระบวนการและหลักสูตรที่เห็นชัดและปฏิบัติต่อได้ ก็ตั้งใจนะ ว่าถึงแม้จะกลับมาอยู่บ้านแล้ว ก็จะพยายามมีสติให้รู้ทุกอิริยาบถที่เราทำมากขึ้น และอยากจะพยายามนั่งกรรมฐานต่อให้ต่อเนื่อง ไม่ทิ้งหาย ตามแรงกิเลสเหมือนที่ผ่านๆ มา สำหรับผู้ที่สนใจนี่คือเบอร์ของวัดค่ะ (053)341664,826869,01-9603151 ขอขอบคุณทุกท่านที่สละเวลาอ่านค่ะ

มหาสติปัฏฐาน 4
เอกสารนำอภิปรายปัญหาธรรมะในพระพุทธศาสนา
โดย น.อ. ประยงค์ สุวรรณบุบผา
ณ มูลนิธิส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ทางพระพุทธศาสนาเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ
ในองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน 2543 เวลา 14.00 - 16.00 น.

คำว่า "มหาสติปัฏฐาน" หมายถึง การตั้งสติอย่างใหญ่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสมหาสติปัฏฐานแก่พระภิกษุและชาวแคว้นกุรุรัฐ ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ ณ นิคม ชื่อกัมมาสทัมมะ* มีใจความสำคัญว่า
"ภิกษุทั้งหลาย หนทางสายเอกสายเดียวนี้คือ เอกายโน มคฺโค (เอกายนมัคค์) เป็นทางที่ทำให้สัตว์บริสุทธิ์ พ้นจากความโศก ความคร่ำครวญ เพื่อกำจัดทุกข์กายทุกข์ใจเพื่อให้เข้าถึงธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งด้วยการตั้งสติ 4 อย่าง"
มีคำกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสมหาสติปัฏฐาน 4 แก่พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา และปวงชนทั่วไปแห่งกุรุรัฐ ด้วยเหตุ 5 ประการ คือ

1. ผู้ฟังพระธรรมเทศนามีสุขภาพกายดี
2. เป็นผู้มีปัญญา เฉลียวฉลาดสามารถรับพระธรรมเทศนาที่มีอรรถะ ลึกซึ้งได้
3. เป็นผู้มีความเพียรสูง
4. มีการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ นับแต่คนรับใช้ไปจนถึงผู้ใช้แรงงาน
5. เรื่องที่สนทนากันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสติปัฏฐาน แม้แต่สัตว์เดรัจฉานที่อาศัยมนุษย์ก็เจริญสติปัฏฐาน กล่าวหรือพูดกันถึงแต่เรื่องสติปัฏฐาน 4 ทั้งสิ้น

ในกุรุรัฐนี้ มิใช่แต่มนุษย์เท่านั้นที่เจริญสติปัฏฐาน 4 แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานที่อาศัยมนุษย์ ก็เจริญสติปัฏฐานเหมือนกัน มีตัวอย่าง นกแขกเต้าแสดงให้เห็นเป็นกรณีศึกษาดังนี้
"มีนักรำท่านหนึ่ง เลี้ยงลูกนกแขกเต้าเอาไว้ แล้วฝึกให้พูดภาษามนุษย์ ไปไหนก็พาเอาไปด้วย คราวหนึ่ง นักรำท่านนี้ไปขออาศัยพักอยู่ ณ ที่อาศัยของนางภิกษุณีรูปหนึ่ง เวลาลาไป กลับลืมนกแขกเต้าตัวนั้นเสียสนิท สามเณรีจึงเลี้ยงนกแขกเต้าตัวนั้นไว้ ตั้งชื่อให้ว่า พุทธรักขิต นางภิกษุณีสอนให้นกพุทธรักขิตสาธยายคำว่า อัฐิ อัฐิ (กระดูก กระดูก) เป็นเนืองนิตย์ นกแขกเต้าพุทธรักขิตก็ปฏิบัติตามคำสอนของนางภิกษุณีรูปนั้นเป็นอันดี วันหนึ่งตอนเช้า ขณะที่นกพุทธรักขิตกำลังนั่งผิงแดดอ่อนอยู่ บนซุ้มประตู เหยี่ยวตัวหนึ่งมาโฉบเฉี่ยวเอาไป นกพุทธรักขิต ส่งเสียงร้องว่า กิริ กิริ พวกสามเณรีทั้งหลายได้ยินเข้าก็พากันช่วยนกพุทธรักขิตจนปลอดภัย นางภิกษุณีเถรีถามนกพุทธรักขิตว่า เวลาที่ถูกเหยี่ยวเฉี่ยวเอาไปว่าคิดอย่างไร นกพุทธรักขิตตอบว่า มิได้คิดอื่นใด คิดถึงแต่เพียงว่า -- อย่างนี้ว่า 'กองกระดูกพากองกระดูกไป จะไปเรี่ยรายกลาดเกลื่อนอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ได้เท่านั้น พระเถรีให้สาธุการว่า สาธุ สาธุ พุทธรักขิตเจ้าคิดอย่างนั้น ก็จักเป็นปัจจัยแห่งความสิ้นภพ สิ้นชาติของเจ้าในอนาคต"
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสสอนให้ใช้หลักมหาสติปัฏฐาน 4 (การตั้งสติอย่างใหญ่) ซึ่งเป็นทางสายเอกและเป็นทางสายเดียว (เอกายนมัคค์) ที่จะทำให้สรรพเวไนยสัตว์บริสุทธิ์สะอาดปราศจากโรคจิต ล่วงพ้นเสียได้จากความโศก ความร่ำไร ความดับทุกข์ ความเสียใจ (โทมนัส) เพื่อบรรลุญายธรรม คือ ธรรมที่ควรรู้ควรเห็น ธรรมที่ถูก คืออริยมรรค เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
มหาสติปัฏฐาน 4 (Foundation of Mindfulness) คือ การตั้งสติอย่างใหญ่ กำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ว่าสิ่งนั้น ๆ ว่ามันเป็นของมันเอง โดยธรรมชาติ โดยธรรมดา
มหาสติปัฏฐานจำแนกออกไปได้ ดังนี้
มหาสติปัฏฐาน 4 ส่วนย่อย

1. กายานุปัสสนา การตั้งสติพิจารณากาย แบ่งย่อยออกไปเป็น 6 ส่วน (การตั้งสติกำหนดพิจารณากายให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา)

1. อานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้า-ออก
2. อิริยาบถ กำหนดให้รู้เท่าทันอิริยาบถ
3. สัมปชัญญะ ความรู้ตัวในการเคลื่อนไหวทุกอย่าง
4. ปฏิกูลมนสิการ พิจารณาส่วนประกอบของร่างกาย (อวัยวะต่าง ๆ) ว่าเป็นของไม่สะอาด
5. ธาตุมนสิการ พิจารณาร่างกายของตนให้เห็นว่าเป็นสักแต่ว่าธาตุแต่ละอย่าง ๆ
6. นวสีวถิกา พิจาณาซากศพในสภาพต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มตายใหม่ ๆ จนถึงกระดูกป่นเป็นผุยผง (อันแตกต่างกันใน 9 ระยะเวลา ท่านเรียกว่าป่าช้า 9) ให้เห็นว่าเป็นคติธรรม ร่างกายของผู้อื่น (ซากศพที่กำลังพิจารณา) เป็นเช่นใด ร่างกายของเราก็จักเป็นเช่นนั้น (รวมเป็น 6 ส่วน)

2. เวทนานุปัสสนา (การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา คือ
การรู้สึกอารมณ์ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นเพียงเวทนา ... ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ๆ) 1) สุข 2) ทุกข์ 3) ไม่ทุกข์ไม่สุข 4) สุขประกอบด้วยอามิส 5) สุขไม่ประกอบด้วยอามิส 6) ทุกข์ประกอบด้วยอามิส 7) ทุกข์ไม่ประกอบด้วยอามิส 8) ไม่ทุกข์ไม่สุขประกอบด้วยอามิส 9) ไม่ทุกข์ไม่สุข ไม่ประกอบด้วยอามิส (รวมเป็น 9 อย่าง)

3. จิตตานุปัสสนา (การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ...) 1) จิตมีราคะ 2) จิตไม่มีราคะ 3) จิตมีโทสะ 4) จิตไม่มีโทสะ 5) จิตมีโมหะ 6) จิตไม่มีโมหะ 7) จิตหดหู่ 8) จิตฟุ้งซ่าน 9) จิตใหญ่ (จิตในฌาน) 10) จิตไม่ใหญ่ (จิตที่ไม่ถึงฌาน) 11) จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า 12) จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า 13) จิตตั้งมั่น 14) จิตไม่ตั้งมั่น 15) จิตหลุดพ้น 16) จิตไม่หลุดพ้น (รวม 16 อย่าง)

4. ธัมมานุปัสสนา (การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ...) 1) พิจารณาธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุสมาธิ คือ นีวรณ์ 5 มี กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจะ และวิจิกิจฉา) เรียกว่า นี วรณบรรพ 2) ... ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เรียกว่า ขันธบรรพ 3) ... อายตนะภายใน 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เรียกว่า อายตนบรรพ 4) ... ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ 7 คือ โพชฌงค์ 7 (สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา) เรียกว่า โพชฌงคบรรพ

5) ตั้งสติกำหนดรู้ชัดธรรมทั้งหลายมีนีวรณ์ 5 (กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา) ขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) อายตนะภายใน 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) อายตนะภายนอก 6 (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธัมมารมณ์) โพชฌงค์ 7 {สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ (ความสงบกาย-สงบใจ) สมาธิ อุเบกขา] และอริยสัจจ์ 4 ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา) ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญขึ้นและดับไปอย่างไร เป็นต้น ตามความเป็นจริงของสรรพสิ่ง อย่างนั้น ๆ (รวม 5 ส่วน)

อานิสงส์ผลของการปฏิบัติมหาสติปัฏฐานทั้ง 4

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้ตรัสเทศนามหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว ได้ตรัสถึงอานิสงส์คือ ผลการตั้งสติอย่างใหญ่นี้ว่า ผู้ปฏิบัติจะได้รับผล 2 ประการ ประการใดประการหนึ่ง คือ บรรลุพระอรหัตตผลในชาติปัจจุบัน หากยังมีอุปาทิคือสังโยชน์ 10 (เขียนสัญโญชน์ก็ได้) หรือ อนุสัย 7 (มีกามราคะ ปฏิฆะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา มานะ ภวราคะ และอวิชชา) เหลืออยู่ จะได้เป็นพระอนาคามี (ผู้ไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีก) คือ เป็นผู้จะได้บรรลุพระอรหัตตผล หรือพระอนาคามิผล ในชาตินี้เป็นแม่นมั่น ภายใน 7 ปี หรือลดลงไปจนถึงเพียง 7 วัน (7 ปี, 6 ปี, 5 ปี, 4 ปี. 2 ปี, 1 ปี; 7 เดือน, 6 เดือน, 4 เดือน, 3 เดือน, 2 เดือน, 1 เดือน, 15 วัน, (กึ่งเดือน) หรือ 7 วัน)

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงถึงพฤติกรรมของจิตมนุษย์พร้อมวิธีแก้ไขพฤติกรรม
ในหลักพระพุทธศาสนาได้จำแนกพฤติกรรมของจิต เรียกว่าจริต (ความประพฤติเป็นปกติ; พื้นฐานของจิต ที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง) ออกเป็น 6 ชนิด
พฤติกรรมของจิต

1. ราคจริต (ผู้หนักไปทางรักสวยรักงาม)
2. โทสจริต (ผู้หนักไปทางใจร้อน หงุดหงิด โกรธง่ายคิดประทุษร้าย)
3. โมหจริต (ผู้หนักไปทางซึมเซา งมงาย)
4. สัทธาจริต (ผู้หนักไปทางเชื่อง่าย)
5. พุทธิจริต/ญาณจริต (ผู้ประพฤติหนักไปทาง การใช้ความคิดพินิจพิจารณา)
6. วิตกจริต (ผู้ประพฤติหนักไปทางคิดจับจด ฟุ้งซ่าน)

วิธีการแก้ไข

1. อสุภะและกายคตาสติ (การพิจารณาให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งาม, การมีสติพิจารณาด้วยการเจริญกรรมฐาน)
2. เจริญกรรมฐานข้อธรรมคือ พรหมวิหาร 4 (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) และกสิณ คือ วัณณกสิณ (กสิณสี คือการเพ่งสีเขียว เหลือง แดง ขาว)
3. เจริญกรรมฐานข้ออานาปานสติ (กำหนดลมหายใจเข้า-ออก การเรียน การฟัง การถาม การศึกษาหาความรู้ การสนทนาตามกาลกับครูอาจารย์)
4. การพิจารณาพุทธานุสสติ แนะนำให้เชื่ออย่างมีเหตุผล
5. การพิจารณาพระไตรลักษณ์ (อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา) การเจริญกรรมฐานข้อมรณสติ อุปมานุสติ จตุธาตุววัฎฐาน และอาหาเรปฏิกูลสัญญา
6. การสะกดอารมณ์ด้วยการใช้หลักอานาปานสติ หรือเพ่งกสิณ เป็นต้น
(ขุ.ม. 29/727/435;889/555: ขุ.จุ. 30/492/244;/วิสุทธิ. 1/127)

จริต 6 นี้ เนื่องในอกุศลมูล 31 คือรากเหง้าของความชั่ว บาปทั้งหลายทั้งปวง มีหลักธรรมสำหรับแก้จริตทั้ง 6 ดังได้เสนอผ่านมาแล้ว
สติปัฏฐาน 4 เป็นทางเดียว เป็นทางบริสุทธิ์ที่ทำให้มนุษยชาติพ้นจากราคะ*/โลภะ โทสะ และโมหะ พ้นจากความโศก ความคร่ำครวญ กำจัดทุกข์กาย ทุกข์ใจ เพื่อเข้าถึงธรรมที่ถูกต้อง ด้วยการทำพระนิพพานให้แจ้ง
ได้โปรดศึกษาความพิสดารเรื่อง "สติปัฏฐาน 4" ได้ใน "สวดมนต์แปล" ของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระศาสนโศภณ (แจ่ม จตฺตสลฺโล) วัดมกุฏกษัตริยาราม (หน้า 130-463) และ "พระไตรปิฎกฉบับประชาชน" ของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ (หน้า 336-337), พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ (ฉบับภาษาบาลี) หน้า 325-351, หนังสือ "นวโกวาท" พระนิพนธ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พิมพ์ครั้งที่ 74/2525 หน้า 34.